
Have you read
news today?
DAAT จึงได้ร่วมมือกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) รายงานเม็ดเงินโฆษณาในปี 2568 ลุ้นโต 10% มูลค่าสูงถึง 3.45 หมื่นล้านบาท สกินแคร์ มาแรง 3 ปีซ้อน TikTok ครองเบอร์สอง แซงหน้า YouTube
ดัชนีสำคัญในการสะท้อนภาพรวมธุรกิจและสินค้าต่างๆ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรผ่านการใช้จ่ายงบประมาณในการทำตลาดและการทำโฆษณาดิจิทัลในแต่ละปี โดย สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT จึงได้ร่วมมือกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยการตลาดและที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านแบรนด์ชั้นนำของโลก รายงานถึง เม็ดเงินโฆษณาในปี 2568 เพื่อร่วมชี้เทรนด์ในประเทศไทยของภาคธุรกิจในการทำกิจกรรมการตลาด และภาคกลุ่มสินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินในปี 2568 ว่าจะมีการขยายตัว 10% มูลค่าสูงถึง 3.45 หมื่นล้านบาท
อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้า และประธานฝ่ายการเจริญเติบโตแห่งเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเมินโฆษณาดิจิทัลในปี 2568 ขยายตัวได้ 10% ท่ามกลางความกังวลจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประเมินว่าจะชะลอตัวลงก็ตาม แรงหนุนสำคัญมาจากภาคสินค้าหลักมีการใช้เงินในระดับสูงทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ และกลุ่มการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งจึงเป็นแรงกระตุ้นต่อการใช้จ่ายโดยรวมของประเทศไทย
ภาพรวมกลุ่มสินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินสูงสุดในอุตสาหกรรมดิจิทัลปีนี้จะไม่มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับปีก่อนมากนัก โดยทุกกลุ่มต่างใช้เงินเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นกลุ่มยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง 1%
สกินแคร์ครองเม็ดเงินลงทุนโฆษณาดิจิทัล 3 ปีซ้อน
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มีเม็ดเงินการลงทุนสูงถึง 6,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน เนื่องจากหลังโควิดที่ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้มีความสนใจในการดูแลตัวเองมากขึ้น ถือว่ามีการขยายตัวสูง และครองอันดับหนึ่งต่อเนื่องมาสามปีแล้ว รองลงมา อุตสาหกรรมยานยนต์มีมูลค่า 2,981 ล้านบาท แต่มีการใช้เม็ดเงินลดลง 1% จากปีก่อน เนื่องจากการเข้ามาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าประเทศจีน ต่างเน้นทำโปรโมชันจำนวนมาก อาจให้ความสำคัญในการโฆษณาทางดิจิทัลลดลง
ขณะที่ อันดับสามเป็นกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีมูลค่า 2,942 ล้านบาท ขยายตัว 17% ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มีการใช้เม็ดเงินสูงถึง 2,525 ล้านบาท ขยายตัว 25% กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีเม็ดเงินสูงถึง 2,104 ล้านบาท มีการขยายตัว 3% ซึ่งมาจากกลุ่มหลักคือ ผู้ประกอบการแบรนด์โทรทัศน์มือถือต่างๆ ทำการตลาดมากขึ้น
รีเทลแข่งเดือดใช้งบพุ่ง 14%
อันดับหก ได้แก่ รีเทล มีการใช้เม็ดเงิน 1,990 ล้านบาท ขยายตัว 14% โดยกลุ่มรีเทล กลับมาใช้เงินทำการตลาดสูงมาก แสดงถึงอุตสาหกรรมโดยรวมที่มีการแข่งขันมากขึ้นในทุกกลุ่มค้าปลีก อันดับเจ็ด ธนาคาร มีการใช้เม็ดเงินถึง 1,227 ล้านบาท มีการขยายตัว 19% อันดับแปด อสังหาริมทรัพย์ 1,126 ล้านบาท ชะลอตัวลง 1% ตามสถานการณ์ของตลาด และ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน มีการใช้เม็ดเงิน 1,107 ล้านบาท มีการขยายตัว 7% แต่กลุ่มที่มีการลดใช้งบมากที่สุดคือ ภาคประกัน ลดลงถึง 18%สำหรับภาพรวมการลงทุนตามช่องทางดิจิทัล โดยกลุ่มที่มาแรงและครองเม็ดเงินมากที่สุด ได้แก่ เมตา (Mata) รวมเฟซบุ๊ก และอินสตราแกรม ครองส่วนแบ่งการตลาดใช้เม็ดเงิน 26% อยู่ที่ 9,088 ล้านบาท แต่ครองสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ที่มีสัดส่วน 28%
• นักการตลาดเลือก TikTok แซงหน้า YouTube ได้เป็นครั้งแรก
รองลงมา ติ๊กต็อก (TikTok) ครองส่วนแบ่งได้ 16% ด้วยเม็ดเงิน 5,510 ล้านบาท ถือว่าสามารถแซงเข้าสู่อันดับสองได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำสำรวจมา จากปีก่อนครองสัดส่วน 7% โดยมีการขยายตัวแบบเท่าตัว จากการเป็นสื่อที่มุ่งนำเสนอวีดีโอสั้น และมีเรื่องราวที่สนุกสนานจึงสอดรับกับคนไทยที่ชื่นชอบการรับชมในเนื้อหาแบบนี้ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม รวมถึงกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อคนไทยได้สูงมาก
อันดับสาม ยูทูบ (YouTube) ครองส่วนแบ่ง 15% ด้วยเม็ดเงิน 5,155 ล้านบาท อันดับสี่ได้แก่ สื่อครีเอทีฟ ครองส่วนแบ่ง 8% ด้วยเม็ดเงินประมาณ 2,714 ล้านบาท และอันดับเจ็ด ออนไลน์ วีดีโอ ต่างๆ ครองส่วนแบ่ง 7% ด้วยเม็ดเงินประมาณ 2,463 ล้านบาท
เมื่อประเมินกลุ่มที่ใช้งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุดในแต่ละกลุ่มพบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ในการดูแลผิว สนใจลงสื่อ ติ๊กต็อก มากสุด รองลงมา เมตา และ ยูทูบ สำหรับยานยนต์ สนใจสื่อ เมตามากที่สุด รองลงมา ติ๊กต็อก และยูทูบ ทางด้าน กลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนม ต่างเลือกลงสื่อในเครือ เมตามากสุด รองลงมาคือ ยูทูบ และ ติ๊กต็อก
“ติ๊กต็อก สามารถครองใจกลุ่มคนไทยและได้รับความสนใจจากแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากแบรนด์สกินแคร์ ใช้งบโฆษณาสูงสุด เนื่องจากมีความหลากหลาย และมีอินฟลูเอนเซอร์ ในการสร้างคอนเทนต์หลายด้าน และเมื่อลูกค้าเข้าไปรับชมในช่วงแรกอาจไม่สนใจซื้อสินค้า แต่เมื่อไปยาวๆ จะเริ่มสนใจที่จะเลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากขึ้น”
ทางด้านเครื่องมือทางการตลาดหลักที่แบรนด์ต่างๆ สนใจสูงคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ที่กลายเป็นเครื่องมือในการทำตลาดและช่วยในการเพิ่มยอดขายสินค้า
• เผยปี 67 โฆษณาดิจิทัลในปี 2567 โต 8% ต่ำกว่าที่คาดไว้
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) รายงานต่อว่า ภาพรวมโฆษณาดิจิทัลในปี 2567 ที่ผ่านมา มีการขยายตัว 8% ด้วยมูลค่า 3.15 หมื่นล้านบาท ถือว่าภาพรวมมีการใช้เม็ดเงินต่ำกว่าที่ประเมินไว้ว่าจะขยายตัว 16% เนื่องจากผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายชะลอตัวลง รวมถึงกลุ่มสินค้าขนาดใหญ่ทั้งยานยนต์ และประกันภัยต่างชะลอในการใช้จ่ายเงิน แต่กลุ่มสินค้าขนาดเล็ก สามารถขยายตัวได้ดีอยู่ ทั้งนี้ภาพรวมกลุ่มที่มีการใช้เม็ดเงินสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รองลงมา กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มภาคการสื่อสาร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนม
ภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เสริมว่า มูลค่าการลงทุนในโฆษณาดิจิทัลในปี 2568 ที่ประเมินว่าจะขยายตัว 10% จะทำให้ผู้ประกอบการและนักการตลาด สามารถวางแผนทำกิจกรรมการตลาด เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บข้อมูลมูลค่าโฆษณาดิจิทัลประจำปี 2567 และการคาดการณ์ในปี 2568 มาจากการร่วมมือจาก 33 เอเจนซีของประเทศไทย และมีการมุ่งเจาะลึกใน 70 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 18 ประเภทสื่อดิจิทัล
March 31, 20257 3 minutes
‘เอไอ’ พลิกเกมปฏิวัติธุรกิจโลก - ‘Agentic AI’ เปลี่ยนโลกการทำงาน
By โต๊ะข่าวไอที ดิจิทัล28 มี.ค. 2025 เวลา 6:01 น.
บิ๊กเทคโลกฟันธง ‘เอไอ’ ตัวเปลี่ยนเกมภูมิทัศน์ธุรกิจเศรษฐกิจโลก คาดเพิ่มมูลค่าศก.โลก 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 "ไอบีเอ็ม' มองเป็นอาวุธลับองค์กร เปิด 5 ข้อเปลี่ยนเอไอจาก ‘แนวคิด’ สู่การใช้งานจริง ชู ‘Agentic AI’ เปลี่ยนโลกการทำงานปี 71 "เอดับบลิวเอส" ชี้ เจนเอไอ คือตัวเร่งนวัตกรรม ส่วน ‘ข้อมูล-มายด์เซ็ท’ ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จ เชื่อปีนี้เทรนด์เอไอถึงจุดเปลี่ยน มุ่งสร้างคุณค่าทางธุรกิจจาก เอไอ และเจนเอไอ “ไมโครซอฟท์” เปิดมุมมอง ยุคเอไอหากไม่ยอมใช้จะแตกต่างอย่างมหาศาลกับคนที่ใช้
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา AI Revolution 2025:A New Paradigm of New World Economy การปฏิวัติด้วย AI กระบวนทัศน์ของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ มีซีอีโอ ผู้บริหารในวงการเทคโนโลยีโลกร่วมแสดงวิชั่นและเปิดมุมมองเอไอที่จะเข้ามาปฏิวัติภูมิทัศน์เศรษฐกิจและธุรกิจโลก
จูฮี แม็คคลีแลนด์ Managing Partner ของ IBM Consulting ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวในหัวข้อ New Paradigm of New AI-Driven Business and Economy ว่า AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจโลก บริษัท PwC คาดการณ์ว่า เอไอจะเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจโลก 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573
ขณะที่ เปรียบเอไอว่าเหมือน “มีดพับสวิส” ที่มีความสามารถหลากหลาย พร้อมย้ำว่า เอไอก็เหมือนกับ “ลูกสุนัข” ที่ต้องการการฝึกฝนและดูแลต่อเนื่อง ทั้งย้ำว่าเอไอยังต้องการการควบคุมจากมนุษย์ เพื่อให้ใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยไอบีเอ็ม ได้สรุปแนวทาง 5 ประการ (5 key AI shifts) หากองค์กรต้องการก้าวสู่ยุคใหม่ของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ
1. จากเอไอทั่วไป สู่เอไอเฉพาะอุตสาหกรรม ปัจจุบัน องค์กรใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพียง 1% เท่านั้น การพัฒนาเอไอที่เข้าใจบริบทเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการบิน เอไอต้องเข้าใจรายละเอียดเฉพาะด้าน อาทิ ตรวจสอบการกัดกร่อนของเครื่องบิน การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าปี 2570 จะมี AI เฉพาะทางถึง 50% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากเพียง 1% ในปัจจุบัน
2. ยุคเอไออัตโนมัติ (Agentic AI) ระบบเอไอจะก้าวสู่ยุคที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งเป้าหมาย ตัดสินใจ และดำเนินการด้วยตนเอง โดยใช้การแทรกแซงจากมนุษย์เพียงเล็กน้อย
การ์ทเนอร์ คาดว่าภายในปี 2571 จะมีการตัดสินใจอัตโนมัติถึง 15% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0% ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ให้ระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น อคติของข้อมูล การหลอน (Hallucinate) หรือการใช้เครื่องมือผิดวิธี จึงจำเป็นต้องมี AI Governance Framework เพื่อควบคุมการใช้งาน
3. เอไอไฮบริด และโอเพนซอร์ส โดยปี 2025 โฟกัสจะไม่ได้อยู่ที่โมเดลเอไอ แต่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับระบบเอไอโดยองค์กรจะเริ่มใช้งานโอเพนซอร์สมากขึ้น และคุณค่าจะไม่ได้มาจากโมเดลเดี่ยวๆ แต่มาจากการบูรณาการที่รวมเครื่องมือโอเพนซอร์สต่างๆ เข้าด้วยกัน
จูฮี มองว่า ยุคเอไอไม่มีองค์กรใดเดินหน้าได้เพียงลำพัง ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์จะเป็นกุญแจสำคัญนำสู่ความร่วมมือ การร่วมทุน ทั้งในกลุ่มสตาร์ตอัปนักพัฒนา และผู้นำในอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ การใช้แนวทาง Hybrid-by-Design ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่ทำให้มัลติคลาวด์ Gen AI และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างยืดหยุ่น เชื่อมโยงกัน และรองรับความซับซ้อนของธุรกิจยุคใหม่
4. ธรรมาภิบาล และความโปร่งใส กฎหมาย EU AI Act ปีที่ผ่านมา รวมถึงความเคลื่อนไหวด้านกฎข้อบังคับในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกและความร่วมมือด้านการตรวจจับอคติเอไอที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล้วนตอกย้ำความสำคัญของเอไอเชิงจริยธรรม ที่ต้องเน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการใช้เอไอที่มีความรับผิดชอบ
5. คอมพิวเตอร์ควอนตัม ไอบีเอ็มถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมควอนตัมคอมพิวติ้งมาอย่างยาวนาน และมีโรดแมปการพัฒนาที่ชัดเจน เช่น การตั้งเป้าว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้มีความสามารถในการแก้ไขข้อผิดพลาดขั้นสูง (Error-Corrected) ได้ภายในปี 2572 โดยปัจจุบันมีเพียงคอมพิวเตอร์ควอนตัมของไอบีเอ็มที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ โดยต่อไปการผสานระหว่าง AI กับควอนตัมคอมพิวติ้งจะเกิดขึ้น
“ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรที่เปิดรับกระบวนทัศน์การทำงานรูปแบบใหม่ พร้อมจะปรับองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 5 ประการด้านเอไอ จะเป็นองค์กรที่พร้อมจะคว้าโอกาสในยุคใหม่ของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ” เธอกล่าวทิ้งท้าย
‘Agentic AI’ คิดเป็น วางแผนเก่ง
นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เอไอเริ่มมีความอัจฉริยะมากขึ้น โดยสามารถวางแผน ตัดสินใจ และทำงานได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอคำสั่งจากมนุษย์ทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Agentic AI หรือ “เอเจนต์เอไอ”
ช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 Agentic AI ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนามองว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญต่อไปของปัญญาประดิษฐ์ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของการ์ทเนอร์ที่เชื่อว่าภายในปี 2571 องค์กรถึง 33% จะนำ Agentic AI มาพัฒนาสู่แอปพลิเคชันของตน
“AI Agent คือซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ช่วยทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้อัตโนมัติ เป็นผู้ช่วยได้ตั้งแต่ขั้นตอนการทำความเข้าใจ การวางแผน การให้เหตุผล ไปจนถึงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แทนเรา ขับเคลื่อนโดยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) และเชื่อมต่อกับเครื่องมือ โมเดล หรือระบบต่างๆ ที่จำเป็นได้ เพื่อช่วยให้งานนั้นๆ บรรลุเป้าหมาย”
ขณะที่ ในปี 2568 นี้ องค์กรจะยังไม่สามารถใช้ Agentic AI ทำงานแทนมนุษย์ได้ในทุกเรื่อง เพราะดุลพินิจของมนุษย์หรือการคิดตัดสินใจโดย ‘คน’ ยังมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในงานที่มีความซับซ้อนและอ่อนโยน
อโณทัย ย้ำว่า AI Governance หรือการกำกับดูแลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งจะนำสู่การใช้ งานจริงในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล เพราะเมื่อใช้หลาย Agent ความซับซ้อนก็เกิดขึ้นเป็นเท่าตัว องค์กรจำเป็นต้องมีแนวทางในการตรวจสอบที่มาของการทำงานของ Agent ต่างๆ และป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องรู้แนวทางการรับมือหากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบอันซับซ้อนนี้
“แม้เอไอจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่เทคโนโลยีไม่สามารถรับผิดชอบแทนเราได้ดังนั้น เราจึงต้องปิดประตูทุกความเสี่ยง การที่เราอนุญาตให้ Agentic AI เข้าถึงข้อมูลสำคัญขององค์กรหรือลบข้อมูลต่างๆ ได้ อาจนำสู่ข้อผิดพลาดที่ไม่คาดคิด ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงๆ เราไม่สามารถโทษหรือปัดความผิดชอบให้เอไอได้
เพราะฉะนั้น ระบบ Agentic AI ต้องมีธรรมาภิบาลกำกับ ต้องโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่เริ่มใช้ โดยในมุมไอบีเอ็มเองก็ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยี AI governance เข้าไปช่วยลูกค้ารับมือในเรื่องนี้แล้วเช่นกัน”
‘ดาต้า’กุญแจสร้างจุดต่าง
นายโจเอล การ์เซีย หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส อาเซียน เปิดมุมมองว่า เอไอนับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างพลิกโฉมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม มาพร้อมโอกาสและพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหักับวิถีชีวิต การทำงาน เพิ่มอำนาจในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาให้กับผู้คนและภาคธุรกิจ
“เจนเอไอเป็นตัวเร่งนวัตกรรม ส่วนข้อมูลเป็นปัจจัยที่จะสร้างจุดต่างและชี้วัดความสำเร็จ ขณะที่มายเซ็ตเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านในยุคแห่งเอไอ”
อย่างไรก็ดี จากพีโอซีสู่การลงมือพัฒนาเพื่อใช้งานจริง กระทั่งวันนี้ที่มาถึงการแสวงหาคุณค่าทางธุรกิจรวมถึงการนำเจนเอไอมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สุงสุด ที่สำคัญไม่ใช่แค่มุมของเทคโนโลยีหรือธุรกิจ แต่ยังต้องรวมไปถึงด้านพฤติกรรมซึ่งองค์กรและบุคลากรต้องมีมายเซ็ตที่เปิดรับด้วย
นอกจากนี้ สำหรับองค์กรธุรกิจ ที่ต้องก้าวตามให้ทันมีอยู่สองมุมคือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทางหนึ่งการสร้างผลลัพท์ให้เกิดขึ้นจริงและเข้ากับโจทย์ของธุรกิจ
“เจนเอไอมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ โปรดักทิวิตี้ การเข้าถึงอินไซต์ และการสร้างสรรค์”
ส่วนเส้นทางการสร้างความสำเร็จ การมีรากฐานของ “ข้อมูล” ที่ดีจะเป็นตัวสร้างความแตกต่าง เจนเอไอเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ท้าทายต้องก้าวข้ามไปให้ได้ไม่ว่าจะเป็น มายเซ็ต บุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี
ชี้ปี 68 จุดเปลี่ยนเอไอในไทย
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AWS แสดงวิสัยทัศน์ว่า ช่วงสองถึงสามปีมานี้ถนนทุกสายต่างมุ่งสู่ เอไอ เช่นเดียวกับในปี 2568 นี้ที่ได้เห็นว่าองค์กรชั้นนำกว่า 80% ทั่วโลกกล่าวว่ามีแผนที่จะนำเอไอมาใช้งานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
หากมองถึงพัฒนาการของ Generative AI สรุปได้ว่าปี 2566 เป็นจุดเริ่มต้นของ “POC” และการพูดคุยทำความเข้าใจว่า GenAI คืออะไร ปลอดภัยหรือไม่ และจะเริ่มต้นอย่างไร จากนั้น ปี 2567 เริ่มต้นจัดทำโครงการต้นแบบ พร้อมมองหาแนวทางที่จะปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของธุรกิจ
ส่วนปีนี้ ที่น่าจับตามองคือ การนำ เอไอ รวมถึง GenAI มาใช้งานจริงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สร้างผลกระทบเชิงบวก หาแนวทางที่จะนำ AI agents มาใช้งาน และทำให้บุคลากรรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรมีความสอดคล้อง สามารถก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมกัน
เชื่อว่าปี 2568 จะเป็นปีแห่งการสร้างคุณค่าทางธุรกิจจาก Generative AI อย่างแท้จริงหลังจากที่หลายองค์กรได้ทดลองและเรียนรู้มาระยะหนึ่งแล้วและที่น่าจับตามอง คือ การมาของ Agentic AI, มัลติโมเดล ที่เลือกใช้หลายโมเดล ไม่จำเป็นต้องเป็นโมเดลขนาดใหญ่, การใช้โมเดลที่มาจากหลายสื่อ (Multiple models) และการสร้างมาตรฐานและกฎเกณฑ์การกำกับดูแล AI
ปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้งานจริงในภาคธุรกิจและสังคมการนำ AI มาประยุกต์ใช้ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับองค์กรที่ต้องการคงความสามารถในการแข่งขัน
ปลดล็อก‘ความสำเร็จ-ความยั่งยืน’
ด้านนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเจนเอไอมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน เกิดผลกระทบวงกว้างกับหลายภาคส่วน สำหรับเอไอแล้วหากไม่ยอมใช้จะมีความแตกต่างอย่างมหาศาลกับคนที่ใช้ แม้การมาของเจนเอไอยังเริ่มต้น ทว่าสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างมาก
เอไอเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงองค์ความรู้ในโลกใบนี้ได้แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังเป็นการเข้าถึงข้อมูลแบบเชิงลึก เสมือนมีที่ปรึกษาส่วนตัวระดับดอกเตอร์ ใช้เวลาน้อยลง แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ได้รับเกิดขึ้นได้มหาศาล
บริษัทวิจัย ไอดีซี รายงานว่า องค์กรชั้นนำกว่า 75% เริ่มปรับใช้เจนเอไอแล้ว และโดยเฉลี่ยผลตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนเจนเอไออยู่ที่ราว 3.7 เท่า กล่าวได้ว่า ทุกอุตสาหกรรมและทุกสาขาอาชีพ ต่างได้รับประโยชน์ ทว่าการจะสร้างมูลค่าเพิ่ม “การศึกษา” นับเป็นปัจจัยที่สำคัญ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเครื่องมือเพื่อสร้างประโยชน์
March 31, 20257 3 minutes
เศรษฐกิจของอินโดนีเซียกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อค่าเงิน “รูเปียห์” อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 27 ปี และดัชนีหุ้นคอมโพสิตจาการ์ตาลดลงมากถึง 7.1% แรงสุดในรอบ 14 ปี อาจกำลังส่งสัญญาณเตือนปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
ภีมะ ยุธิษฐิระ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และกฎหมายในจาการ์ตา เตือนว่าการที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงนั้น สะท้อนถึง "ความไม่ไว้วางใจ" ของตลาดที่มีต่อความเป็นผู้นำและนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี “ปราโบโว สุเบียนโต” ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ “Danantara” ด้วย
นโยบาย ‘ปราโบโว’ กดดัน ‘การคลัง’
ครั้งหนึ่ง อินโดนีเซียเคยเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคนี้ แต่เมื่อปีที่แล้วได้สูญเสียเสน่ห์ในสายตานักลงทุนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโวได้ลดงบประมาณที่จำเป็นหลายด้าน เช่นการลดงบประมาณการศึกษาระดับสูงลง 39% ลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพลง 18.5% และลดโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานลงถึง 73% ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว การลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน สร้างความกังวลทางเศรษฐกิจ และจุดชนวนให้นักลงทุนตื่นตระหนกและพากันถอนการลงทุนออกจากประเทศ
นโยบาย “ประชานิยม” ของประธานาธิบดีปราโบโว กลายเป็นหนึ่งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงของนโยบายเศรษฐกิจ จากโครงการอาหารกลางวันฟรีที่คาดว่าจะใช้งบประมาณมหาศาลถึง 950,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้การขาดดุลงบประมาณของประเทศทะลุเกินกรอบ 3% ของ GDP ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
ล่าสุดเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา อินโดนีเซียตั้ง “ดานันตารา อินโดนีเซีย” (Danantara Indonesia) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่รวมรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และประกาศรายชื่อคณะที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย , มหาเศรษฐี เรย์ ดาลิโอ และนักลงทุน แชปแมน เทย์เลอร์
กองทุนดานันตาราเคยถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่กล้าได้กล้าเสีย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็น “ระเบิดเวลาทางการเงิน” ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการและความโปร่งใสว่า การตัดสินใจลงทุนอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการเมืองมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ
เมื่อความต้องการงบประมาณจาก 2 นโยบายหลังของปราโบโว ทั้งกองทุน Danantara และนโยบายประชานิยมมารวมกัน อาจก่อให้เกิดภาระทางการคลัง เช่น การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
นักลงทุนไม่มั่นใจ 'อินโดนีเซีย’
ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจน เมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยถอนเงินลงทุน โดยเมื่อ 18 มี.ค. ดัชนีหุ้นคอมโพสิตจาการ์ตาลดลงมากถึง 7.1% แรงสุดในรอบ 14 ปี จนต้อง “หยุดการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรก” และลดลงกว่า 12% ในปีนี้ ขณะเดียวกันกองทุนทั่วโลกได้ขายหุ้นอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
รวมทั้งค่าเงินรูเปียห์ร่วงลงสู่ 16,642 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2541 และอ่อนค่าลงกว่า 3% ในปีนี้ และเป็นหนึ่งในสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ที่ทำผลงานแย่สุดในปีนี้
แรงกดดันต่อค่าเงินรูเปียห์เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) “ลดดอกเบี้ย” ลง 0.25% สู่ระดับ 5.75% เหนือความคาดหมายนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ย โดย BI เผยว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าจะทำให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงก็ตาม สุดท้ายแล้วรูเปียห์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดจนทำให้ BI ต้องเข้าแทรกแซงตลาดเกือบทุกวันเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
ลอยด์ ชาน นักวิเคราะห์ค่าเงินจาก MUFG กล่าวว่า ตลาดเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะใช้จ่ายเงินมากขึ้น เนื่องจากโครงการทางสังคมต่างๆ ที่รัฐบาลใหม่กำลังดำเนินการอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงระมัดระวังในการลงทุน และมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินรูเปียห์จะอ่อนค่าลงไปต่ำกว่า 17,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ หากทรัมป์ตัดสินใจขึ้นภาษีศุลกากรในสัปดาห์หน้า
สุดท้ายแล้ว เว็บไซต์เอเซียไทมส์รายงานว่า เมื่อเงินทุนไหลออกจากอินโดนีเซีย ค่าเงินรูเปียห์ก็จะยิ่งเปราะบางต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์หมายถึงต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความยากลำบากในการชำระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
หลายปัจจัยรุมเร้า ‘เศรษฐกิจ’
ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกในและภายนอก ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนในการส่งออก อันเป็นผลมาจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.นี้
ปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ความกังวลเบื้องต้นเกี่ยวกับงบประมาณของอินโดนีเซียที่อาจขาดดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนสำคัญอย่าง “ศรีมุลยานี อินทราวาตี”
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงและความเชื่อมั่นที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตในอนาคต
ยันเศรษฐกิจ ‘อินโดนีเซีย’ ยังแกร่ง
อย่างไรก็ดี BI พยายามลดความกังวลของตลาดเกี่ยวกับค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง โดยยืนยันว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998
ส่วนแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจยังคงมั่นใจว่าค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงนั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว โดยอ้างอิงถึงพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่ง จากเศรษฐกิจที่มีรากฐานมั่นคง ตลาดกำลังฟื้นตัว และมีมุมมองเชิงบวกจากการประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร Bank Rakyat Indonesia และ Bank Mandiri ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐขนาดใหญ่สองแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
อ้างอิง theedgemalaysia, straitstimes, SCMP, asiatimes, BloomBerg
March 31, 20256 6 minutes